วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านวรรณกรรม


ผลงานเขียนต่อไปนี้ เป็นเพียงชิ้นงานหรือบทความเล็กๆที่ตัวผู้เขียนเองเคยเขียนในขณะที่ยังเรียนอยู่ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาที่ได้เคยศึกษา จำได้ว่าแรงบันดาลใจในการเขียนชิ้นงานเรื่องนี้มาจากการที่เดินในงานสัปดาห์หนังสือแล้วได้หนังสือนิยายมือสองมาหนึ่งเล่ม เมื่อลองอ่านดูแล้วปรากฏว่าเป็นนิยายที่สนุก เนื้อเรื่องน่าติดตาม ทำให้เกิดความสนใจที่จะไปศึกษาเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ต่อไป ถึงแม้เนื้อหาของบทความจะยังขาดตกบกพร่องอยู่มาก และถึงแม้เนื้อหาสาระจะเบาบางตื้นเขินแต่ก็อยากนำมาแบ่งปันให้เห็นว่า การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านฉากหลังของนิยายที่เราชื่นชอบนอกจากจะได้รับอรรถรสในการอ่านแล้วยังได้ความรู้ประดับตัวเพิ่มขึ้นอีก ถึงอย่างไรก็ขอขอบคุณผู้เขียนนิยาย และเจ้าของข้อมูลบางประการที่ปรากฏอยู่ในบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ (ยอมรับตามตรงว่าเขียนเมื่อนานมาแล้ว หา Ref ไม่เจอจริงๆ ซ้ำยังจำไม่ได้อีกซะนี่ ยังไงก็ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)


การศึกษาประวัติศาสตร์ผ่านวรรณกรรม

ประวัติศาสตร์ที่ศึกษา         ศึกษาประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในช่วงปลายศตวรรษที่ 19
วรรณกรรมใช้ศึกษา            แผ่นดินของชีวิต ของ ปราโมทยา อนันตา ตูร์

                การศึกษาประวัติศาสตร์คือการศึกษาประวัติความเป็นมาของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ได้กำหนดอยู่เพียงแค่การศึกษาอยู่ในตำราวิชาการเท่านั้น แต่สามารถศึกษาผ่านงานขียน หรือวรรณกรรมต่างๆซึ่งช่วยให้การศึกษาประวัติศาสตร์ไม่น่าเบื่อ และมีสีสันมากขึ้น

                แผ่นดินของชีวิต หรือชื่อในภาษาอังกฤษ This Earth of Mankind เป็นผลงานของปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียนชาวอินโดนีเซียผู้มีผลงานที่ได้รับการแปลมากกว่า 30 ภาษา แผ่นดินของชีวิตเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งในชุดจตุรภาคแห่งเกาะบูรู ซึ่งได้รับการชื่นชมว่าเป็น
นวนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับลัทธิอาณานิคม

                ประวัติของผู้แต่ง
                ปราโมทยา อนันตา ตูร์ เกิดที่เมืองบลอรา เป็นเมืองเล็กบนเกาะชวาเมื่อปี 1925 ในสมัยที่อินโดนีเซียยังเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์ บิดาของเขาเป็นนักชาตินิยม และมารดาเป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี
                ปราโมทเข้าร่วมขบวนการต่อต้านลัทธิอาณานิคมตั้งแต่อายุยังน้อย และถูกรัฐบาลดัตช์จับกุมคุมขังไว้ระหว่างปี 1947 – 1949 อันเป็นช่วงที่เขาเริ่มมีผลงานเขียนยุคแรกๆ ผลงานเรื่องแรกคือ The Fugitive
                หลังการต่อสู้เพื่อเอกราชประสบความสำเร็จ เขาได้รับการปล่อยตัวและตลอดระยะเวลา 15 ปีภายใต้รัฐบาลซูการ์โน เขาทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ บรรณาธิการ และสอนวรรณคดีในมหาวิทยาลัย ในช่วงนี้เขาเริ่มค้นคว้าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์อินโดนีเซีย ซึ่งใช้เป็นพื้นฐานในการเขียนแผ่นดินของชีวิตในเวลาต่อมา
                ในปี 1965 ปราโมทถูกจับขังในข้อหาเป็นคอมมิวนิสต์ หลังถูกขังอยู่ 4 ปี เขาถูกส่งตัวไปที่เกาะบูรู และที่แห่งนี้เองที่เป็นทั้งบ้านและที่ที่ปราโมทสร้างผลงานของเขาขึ้นมา
                ในช่วงแรกเขาสร้างผลงานโดยการเล่าปากต่อปากให้เพื่อนนักโทษฟัง จนกระทั่งในปี 1973 พศดียอมอนุญาตให้เขาเขียนหนังสือลงบนกระดาษ
                ในปี 1979 ปราโมทถูกปล่อยตัวจากคุก แต่ก็ถูกกักบริเวณจนกระทั่งปี 1999 เขาได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศครั้งแรก เพื่อไปเปิดตัวหนังสือ The Mutes Soliloquy ในสหรัฐอเมริกา

                เนื้อเรื่องย่อ
                แผ่นดินของชีวิตเป็นตอนแรกของนวนิยายชุดจตุรภาคแห่งเกาะบูรู เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการตื่นขึ้นของสำนักชาตินิยมในชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะ มิงเก ตัวละครหลักของเรื่อง มิงเก คือ นักเรียนชาวมัธยมปลายชาวพื้นเมืองที่ได้รับโอกาสเข้าไปเล่าเรียนวิทยาศาสตร์และวิชาความรู้ต่างๆในโรงเรียนของชาวดัตช์หรือเอชบีเอสที่ตั้งอยู่ที่เมืองสุราบายา โดยปกติแล้วเอชบีเอสจะสงวนไว้ให้ชาวดัตช์ หรือปรียายีเท่านั้น มิงเกจึงใช้เส้นสายของยายซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์เก่าทำให้ได้เข้าไปเรียนในที่แห่งนี้
                ทัศนคติของมิงเกในแผ่นดินของชีวิตนี้เริ่มต้นด้วยการเป็นคนที่นิยมตะวันตกอย่างมาก ชื่นชมความรู้แบบวิทยาศาสตร์ การแต่งกายก็แตกต่างจากชาวพื้นเมืองคนอื่นในสมัยนั้น เขาแต่งกายแบบชาวยุโรป เขาพยายามลบภาพลักษณ์ความเป็นชวาออกไป เพราะเป็นภาพลักษณ์ของความล้าหลัง ความไม่มีอารยะธรรม แต่ทัศนคติของเขาจะเริ่มเปลี่ยนไปเมื่อเขาได้รู้จักกับครอบครัวของ ไญ อนโตโซโระห์
                ไญ อนโตโซโระห์ เป็นภรรยาลับๆของนักธุรกิจชาวดัตช์ ชื่อ เฮอร์มาน เมลเลมา มิงเกหลงรักแอนเนลีส์สาวลูกครึ่ง ลูกของไญ อนโตโซโระห์ เขาเจออุปสรรคมากมายในเรื่องของความรัก ทั้งการถูกปล่อยข่าวเสียหาย ถูกนินทาว่าร้ายในโรงเรียน โดนมองด้วยสายตาดูถูกเหยียดหยาม
                เรื่องยิ่งแย่ลงเมื่อมิสเตอร์เมลเลมาถูกฆาตรกรรมอย่างลึกลับ ครอบครัวของไญและมิงเกจำเป็นต้องขึ้นศาลของชาวผิวขาวหรือชาวดัตช์ ที่นี่เองเขาได้รับรู้ถึงความกดขี่ ความยโสของชาวตะวันตกที่มีเหนือชาวพื้นเมือง
                คำตัดสินที่ไม่ยุติธรรมต่อชาวพื้นเมือง โดยเฉพาะสำหรับไญ อนโตโซโระห์ บอกว่าเธอไม่เพียงจะถูกยึดทรัพย์สินจากธุรกิจที่เธอเป็นผู้ดูแลมาตลอด แต่เธอยังถูกยึดสิทธิ์ที่จะเลี้ยงดูลูกสาวคนเดียวของตัวเอง เนื่องจากแอนเนลีส์ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะจะต้องอยู่ในความดูแลของมอริตซ์ลูกชายชาวดัตช์ที่ถูกต้องตามกฎหมายของ มิสเตอร์เมลเลมา โดยแอนเนลีส์ต้องเดินทางไปฮอลแลนด์เพียงลำพัง เพราะศาลชาวดัตช์ไม่ยอมให้ผู้ที่มีเชื้อสายดัตช์อยู่ในความดูแลของชาวพื้นเมือง แม้แอนเนลีส์จะมีสายเลือดของชาวพื้นเมืองครึ่งหนึ่งก็ตาม
                เรื่องแผ่นดินของชีวิตจึงจบด้วยตอนที่ว่า แอนเนลีส์ต้องจากบ้านไป จากไญผู้เป็นแม่ และจากมิงเก สามีของเธอ โดยที่มิงเกไม่สามารถทำอะไรได้เลย และจากความพยายามในการต่อสู้กับศาลชาวดัตช์ จนคนรักถูกพรากจากไป ทำให้มิงเกตระหนักถึงความอยุติธรรม การกดขี่ และความชั่วร้ายของระบอบอาณานิคมตะวันตก






                ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียผ่านแผ่นดินชีวิต
            วรรณกรรมเรื่องแผ่นดินของชีวิตได้สะท้อนภาพของประวัติศาสตร์สังคมอินโดนีเซียในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ได้อย่างชัดเจน เพียงแค่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของตำราประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง
                สภาพสังคมของอินโดนีเซียในขณะนั้น เมื่อย้อนไปดูภาพรวมในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 จะเห็นได้ว่า ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษถือเป็นช่วงเวลาแห่งความสงบสุข เกาะชวามีความเจริญรุ่งเรืองมาก เนื่องจาการพัฒนาด้านเกษตรกรรม และมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นของประชากรเนื่องมาจากการที่บ้านเมืองมีความสงบสุขและเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านแรงงาน นอกจากนี้ดัตช์เริ่มนำระบบการบริหารและนโยบายต่างๆซึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้างอาณานิคมมาใช้ในพื้นที่แห่งนี้โดยนโยบายต่างๆเหล่านี้ถือเป็นนโยบายใหม่และไม่เคยใช้มาก่อน จึงทำให้การเปลี่ยนแปลงในช่วงคริสต์ศตวรรษนี้ก่อให้เกิดความยุ่งยากและไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่จริง ในช่วงต้น
                ศตวรรษนี้เราจะเห็นได้ว่าอิทธิพลในด้านสังคม วัฒนธรรมและเศรษฐกิจของชาวดัตช์ก็เริ่มขยายตัวและครอบงำสังคมแบบเดิมของชาวชวามากขึ้นเรื่อยๆ มาตรการต่างๆของดัตช์สร้างความไม่พอใจให้ชาวชวาบางกลุ่มจนนำไปสู่สงครามชวาในช่วงปี 1825 – 1830 แต่สงครามก็จบลงที่ฝ่ายดัตช์สามารถควบคุมชวาได้อีกครั้ง ภายหลังจากที่ดัตช์ปราบกบฏในสงครามชวาได้เรียบร้อยแล้วถือว่าดัตช์ได้ใช้ระบอบการปกครองแบบอาณานิคมอย่างเต็มรูปแบบกับชวาในการควบคุมเรื่องต่างๆ
                โดยในปี 1830 ก็มีการนำระบบบังคับการเพาะปลูกมาใช้ เพื่อบังคับการผลิตน้ำตาลเพื่อทำกำไรสู่ตลาดโลกของดัตช์ และในการขูดรีดทรัพยากรจากอาณานิคมนี้ ดัตช์ได้มีการปลูกฝังทัศนคติค่านิยมที่จะทำให้ชาวชวาจะต้องอยู่ใต้ความปกครองของดัตช์ ต้องให้ความเคารพชาวดัตช์ และมองดัตช์ว่าเป็นผู้สูงส่ง อยู่เหนือกว่าชาวพื้นเมือง โดยชาวพื้นเมืองไม่มีสิทธิ์เรียกร้องหรือโต้แย้งใดๆได้ การบังคับการเพาะปลูกนี้ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมหมู่บ้าน เริ่มเกิดความไม่เท่าเทียมกัน มีคนรวยกับคนจนเกิดขึ้น จากผลการขูดรีดนี้ก็ทำให้ดัตช์มีกำไรและรายได้เพิ่มมากจนกลายเป็นประเทศหนึ่งที่ร่ำรวยที่สุดในยุโรปในตอนนั้น แต่สร้างผลกระทบอย่างมากในสังคมชวาจนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นในเนเธอร์แลนด์จากกลุ่มที่มีแนวคิดเสรีนิยม
                กลุ่มแนวคิดเสรีนิยมนี้ต้องการให้ดัตช์เปลี่ยนนโยบายในการปกครองใหม่โดยให้มีความเสรีมากขึ้น ทำให้ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดัตช์หันมาใช้นโยบายเสรีนิยมและผลจากการใช้นโยบายเสรีนิยมนั้นก็ทำให้เศรษฐกิจในชวาตกอยู่ในมือของนายทุนชาวต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเราศึกษาลึกเข้าไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของเมืองท่าสุราบายา ซึ่งเป็นสถานที่หลักในวรรณกรรมเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่ามีการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่มากับนโยบายเสรีนิยม
                โดยเมืองท่าสุราบายาเป็นเมืองท่าที่ขยายตัวรอบๆท่าเรือใหญ่ ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่แห่งนี้ย่อมต้องมองเห็นและรับรู้ถึงการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมต่างๆที่เข้ามาพร้อมกับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแบบทุนนิยม อันเป็นผลมาจากนโยบายเสรีนิยมได้อย่างถนัดชัดเจน ทั้งเรือบรรทุกสินค้าที่นำเอาสินค้าต่างๆมากมาย ทั้งเครื่องจักรและสินค้าจากยุโรป ทำให้มีการขยายตัวของเศรษฐกิจการค้า โดยเฉพาะมีการขนวัวนมสำหรับอุตสาหกรรมนมของชวาเข้ามาที่เมืองท่าแห่งนี้
                นอกจากนี้ยังมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติหลั่งไหลเข้ามาโดยเฉพาะชาวตะวันตก ทั้งเจ้าหน้าที่ของดัตช์ที่ถูกส่งตัวมา พ่อค้า นักเผชิญโชค คนเหล่านี้เข้ามาที่หมู่เกาะชวาเพื่อแสวงหา กอบโกย ตักตวงเอาผลประโยชน์จากหมู่เกาะแห่งนี้
                เมื่อผู้คนจากต่างเชื้อชาติเข้ามาอยู่จึงเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ มีการหลั่งไหลของความร็เข้ามาอย่างไม่ขาดสายทั้งในด้านการเมือง การปกครอง ศาสนา ปรัชญา และวิสัยทัศน์ในด้านต่างๆ รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบโลก มีการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น เรื่องของการพิมพ์หนังสือ พิมพ์รูปภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความเจริญที่เข้ามาพร้อมกับการต้องตกอยู่ใต้อาณานิคมของดัตช์ทั้งนั้น และธุรกิจความมั่งคั่ง รวมทั้งผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เป็นของชาวต่างชาติมากกว่าที่จะเป็นของชาวพื้นเมือง ทำให้มีการวิจารณ์นโยบายการปกครองของดัตช์อย่างกว้างขวางว่าเอารัดเอาเปรียบชาวพื้นเมืองมากเกินไป รัฐบาลดัตช์จึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหา จนนำไปสู่นโยบายจริยธรรมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
                มีการดำเนินนโยบายการผสมผสานทางวัฒนธรรมซึ่งเป็นพื้นฐานความคิดของนโยบายจริยธรรม ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่สอดแทรกเข้าไปในวิถีชีวิตของกลุ่มลูกหลานปรียายีรุ่นใหม่ที่เคยยึดติดอยู่กับวัฒนธรรมอิสลามพื้นเมืองแบบชวา มีการสนับสนุนการศึกษา แต่ก็แค่ในกลุ่มชนชั้นสูงของสังคมชวาเท่านั้น ทำให้การศึกษากระจุกตัวอยู่แค่ในบางกลุ่ม
                การดำเนินนโยบายจริยธรรมของดัตช์ตั้งอยู่บนจุดประสงค์แห่งความหวังดีแต่ผลที่ได้กลับสร้างความแปลกแยกทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมสมัยใหม่ของตะวันตกกับวัฒนธรรมอิสลามเกิดขึ้นในกลุ่มลูกหลานชนชั้นสูงที่ได้รับการศึกษาแบบใหม่จากโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชนที่ชื่นชมวัฒนธรรมสมัยใหม่
                มีการกำหนดใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษากลางเพื่อเป็นมาตรฐานในการศึกษา ทำให้เป็นการแบ่งแยกชนชั้น ซึ่งภาษาในสมัยนั้นเป็นเครื่องบ่งบอกถึงชนชั้นวรรณะทางสังคมอย่างชัดเจน ในสมัยนั้นชาวพื้นเมืองถูกห้ามไม่ให้ใช้ภาษาดัตช์ ซึ่งภาษาดัตช์เป็นภาษาสำหรับชนชั้นปกครอง และชนชั้นสูงสุด ภาษาชวาเป็นภาษาของคนพื้นเมืองในเกาะชวา ภาษามลายูเป็นภาษาระหว่างเชื้อชาติต่างๆ เป็นภาษากลาง เป็นภาษาของลูกครึ่งยุโรปเอเชีย นอกจากภาษาที่เป็นตัวกำหนดชนชั้นวรรณะในสังคมแล้วเรื่องของเชื้อชาติก็เป็นประเด็นสำคัญ มีการแบ่งแยกเชื้อชาติอย่างชัดเจน เช่นชาวพื้นเมือง ชาวเลือดผสม ชาวอินโด และชาวยุโรปแท้ การแบ่งแยกนี้มีสถานภาพทางกฎหมายรองรับ
                มาตรการต่างๆของรัฐบาลดัตช์ทำให้เกิดความห่างเหินทางวัฒนธรรมการศึกษาขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดของวิถีชีวิตแบบเดิมคลายตัวลง ส่งผลให้เกิดการวมตัวกันของชวาพื้นเมืองโดยมีศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวในการเคลื่อนไหว ต่อต้านเหล่าผู้ปกครองต่างชาติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น